Narasuan King

Amps

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

งานวิจัย พื้นที่สวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช งานวิเคราะห์

ข้อมูลใหม่พื้นที่สวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นกษัตริย์นักรบที่ได้รับการยกย่องทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ตลอด 50 พรรษาของพระองค์ได้แผ่ขยายพระบรมเดชานุภาพ ทรงนำกองทัพเข้าประจัญบานในการรบ จนเป็นที่ครั่นคร้ามของอริราชศัตรู เอกสารชาติตะวันตกบันทึกว่า การปกครองในรัชกาลของพระองค์เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์สยามพระองค์ทรงประหารหรือสั่งประหารชีวิตผู้คนมากกว่า 50,000 คน ทั้งนี้ไม่นับผู้ล้มตายในการทำสงคราม
อาณาจักรอังวะเกือบล่มสลาย หากพระองค์ไม่สวรรคตเสียก่อน ขณะเดินทางกรีฑาทัพทหาร 200,000 คนเพื่อเข้ายึดครองศูนย์กลางอำนาจของพม่าในขณะนั้น
แต่ประเด็นพื้นที่สวรรคตของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้กลับคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยเฉพาะพงศาวดารไทยที่บันทึกมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดให้ชำระขึ้นใน พ.ศ.2223 เป็นการบันทึกภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคตแล้วเพียง 75 ปี (สมเด็จพระนเรศวรฯสวรรคตในปี พ.ศ.2148) นับได้ว่าเป็นพงศาว ดารไทย ที่บันทึกใกล้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในบรรดาพงศาวดารไทย ด้วยกัน โดยได้บันทึกพื้นที่สวรรคต มีชื่อว่า “ เมืองหลวง ” ตำบล ทุ่งดอนแก้ว… (หมดฉบับแรกเพียงเท่านี้ส่วนฉบับที่สองยังหาไม่พบตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน)
ซึ่งยังไม่ทราบว่า “เมืองหลวง” คือเมืองอะไร? ตั้งอยู่ที่ไหน? เพียงแต่ทราบว่าตั้งอยู่ระหว่าง เมืองเชียงใหม่ กับ แม่น้ำสาละวิน และเมืองนาย(ในพม่า)
แต่มาวันนี้ได้มีหลักฐานของพงศาวดารพม่า ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยมาแต่ครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้มีจดหมาย ไปถึงหมอแฟรงค์ เฟอร์เตอร์ ซึ่งใกล้ชิดกับผู้ดูแลหอสมุดแห่งชาติพม่า (ขณะนั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ)ให้ช่วยคัดลอกพงศาวดารพม่าในส่วนที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับไทยและล้านนา เมื่อได้ฉบับคัดลอก ซึ่งเขียนเป็นภาษาพม่ามาแล้วจึงให้ชาวพม่าที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯแปลมาเป็นภาษาไทยและได้ทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่ 5 ทรงวินิจฉัย แต่ทรงวินิจฉัยได้ไม่นานนักก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2453…
พงศาวดารพม่าถูกเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โดย ถูกเปลี่ยนชื่อกลับไปกลับมาหลายครั้ง..จนเวลาล่วงเลยไปเกือบ 100 ปี จึงมีการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2545 ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า” โดยพม่าได้บันทึกพื้นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรไว้ชัดเจน ดังนี้
……..ครั้นจุลศักราช 974 พระเจ้าอยุธยา พระนเรศ ทรงเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ ครั้นเสด็จมาถึง “เมืองแหน” แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงประชวรในเร็วพลัน ก็ สวรรคต ในที่นั้น.. (พระนเรศ คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
และพม่าให้ความสำคัญกับ “เมืองแหน” ในด้านเส้นทางเดินทัพ โดยบันทึกไว้ถึง 3 ครั้ง 3 เหตุการณ์ แต่ละเหตุการณ์มีความสำคัญในการทำศึกสงคราม และเป็นเส้นทางเดินทัพทั้งสิ้น ตลอดช่วงระยะเวลายาวนานกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองแผ่อำนาจยึดครองเชียงใหม่ และอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในปี พ.ศ. 2112 จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าตากสิน กอบกู้เอกราชขับไล่พม่าออกจากอยุธยา และออกจากเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2317 โดยพม่าบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญไว้ดังนี้ (ดูแผนที่ประกอบ)
ครั้งที่ 1 ปีจ.ศ.929 ออกญาธรรมราชา(ขุนพิเรนทรเทพ)เจ้าเมืองพิษณุโลก มีใบบอกไปยังพระเจ้าหงสาวดี(บุเรงนอง)ว่าเจ้าเมืองเลียงเชียง(ล้านช้าง)ยกทัพหมายเข้าตีเมืองพิษณุโลก พระเจ้าหงสาวดีจึงจัดทัพเจ้าประเทศราชเงี้ยว(ไทใหญ่) จำนวน 6 ทัพ ทหาร 6 หมื่นคน ม้า 6 พันตัว ช้าง 6 ร้อยเชือก โดยมีรับสั่งให้ยกทัพไปทาง ”เมืองนาย” ครั้นกองทัพมาถึง “เมืองแหน” เป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้าเมืองเลียงเชียงทราบว่ากองทัพหงสาวดี ยกมาช่วยจึงรีบถอยหนี พระเจ้าหงสาวดีจึงมีท้องตราให้เรียก 6 กองทัพกลับ
ครั้งที่ 2 ปี จ.ศ. 974 พระเจ้าอยุธยา พระนเรศ ทรงเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ ครั้นเสด็จมาถึง “เมืองแหน ”แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงประชวรในเร็วพลัน ก็สวรรคตในที่นั้น…
ครั้งที่ 3 ปี จ.ศ.1127 ในขณะซึ่งพญาฉาปัน(พญาจ่าบ้าน) กับพญากาวิละไปเข้ากับอยุธยานั้น ฝ่ายหัวเมืองขึ้นเชียงใหม่ 57 หัวเมือง ก็กระด้างกระเดื่องแข็งเมืองขึ้นทุกๆเมืองแล้ว พญาฉาปันพูดกันพระยาตากแสน(พระเจ้าตากสิน)ว่า ถ้าในเวลานี้ เราตีเชียงใหม่ก็จะได้โดยง่ายแล้วพระยาตากแสนจัดพลทหาร 4-5 หมื่นคน ยกมา ครั้นเห็นกองทัพสีหะปะเต๊ะ (เนเมียวสีหบดี)ก็มิได้หยุดตรงเข้าตีตลุยเข้าไป ฝ่ายกองทัพสีหะปะเต๊ะ ทนฝีมือไม่ได้ ก็แตกถอยหนี ไปทาง ”เมืองแหน” และจนต้องถอยไปอยู่ “เมืองนาย”
จะสังเกตเห็นว่าการบันทึกทั้ง 3 เหตุการณ์ “เมืองแหน”เป็นเส้นทางเดินทัพทั้งสิ้น แต่พงศาวดารฉบับเดียวกันบันทึก เมืองหาง (พม่า เรียกชื่อ เมืองหาง เป็นเมืองหัน ว่า.อยู่นอกเส้นทางเดินทัพ และให้ความสำคัญน้อย เพียงแต่สั่งให้เกณฑ์ทหารจำนวนหนึ่ง เพื่อสมทบเข้ากองทัพพม่า ไปทำสงครามกับ อยุธยา ในปี พ.ศ. 2308 ..ดังนี้
…จ.ศ.1127 ฝ่ายสีหะปะเต๊ะ แม่ทัพที่ยกไปตีทางเชียงใหม่นั้น ได้รับท้องตราพระบรมราชโองการว่า ให้สีหะปะเต๊ะ ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา จึงจัดให้เจ้าเมืองหัน(หาง) ทัพ 1 เจ้าเมืองปั่น ทัพ 1 …รวม 10 ทัพ มีพลทหาร 8,000 คน..มอบอาญาสิทธิ์ให้ ศรีศิริราชสังจัน เป็นแม่ทัพ คุมพลทหารยกล่วงหน้าไปทางบกก่อน..

ที่สำคัญพงศาวดารพม่าฉบับเดียวกัน ยังได้เขียน “เมืองแหน” กับ “เมืองหัน(หาง) เป็นภาษาเขียนของพม่าไว้แตกต่างกันอย่างอย่างชัดเจน ดังนั้น “เมืองแหน” กับ “ เมืองหัน”(หาง) จึงไม่ใช่เมืองเดียวกัน
พม่าบันทึกไว้ชัดเจนว่าพระองค์ดำ “สวรรคตที่เมืองแหน” ดังนั้น จึงไม่ใช่สวรรคตที่ “เมืองหัน(หาง)”
แล้ว “เมืองแหน” ตั้งอยู่ ณ พิกัดใด ? จึงเป็นคำถามที่รอนักปราชญ์ของแผ่นดินเฉกเช่นท่านทั้งหลาย ได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อให้ได้คำตอบ และความเป็นจริงปรากฏ สิ่งที่จะนำเรียนเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า “เมืองแหน” ที่บันทึกไว้ในพงศาวดารพม่าก็คือ “เมืองแหง” (อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่)
ดังนั้นจึงยัง ไม่ใช่ข้อสรุป เป็นเพียงจุดประกายทางความคิด เพื่อเชิญชวนผองปวงชนก้าวเข้าสู่ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นสังคมอุดมปัญญาในเบื้องปลาย
หลักฐานสำคัญที่สนับสนุนว่า “เมืองแหน” คือ “เมืองแหง” (อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่)มีดังต่อไปนี้

1. หลักฐานเอกสารชั้นต้นประเภทใบบอก หรือ จดหมายเหตุสมัยรัตน โกสินทร์ ตอนต้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เอกสารตำนานล้านนา ที่จารึกลงในใบลาน เอกสารชาวตะวันตก ตลอดจนเหตุการณ์พิเศษที่เฉพาะเจาะจงเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเวียงแหง เรียงลำดับจากใกล้ตัว ไปหาไกลตัว ดังนี้


1.1 พ.ศ.2545 กองกำลังไม่ทราบฝ่ายบุกโจมตีฐานทหารประเทศเพื่อนบ้าน ณ ช่องทางหลักแต่ง(อ.เวียงแหง)จนฐานแตกละลายรวมทั้งฐานอื่นตลอดแนวชายแดน         เหตุการณ์ลุกลามบานปลายเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างชนชาติ
1.2 พ.ศ.2517 รัฐบาลไทย แจ้งให้กองกำลังไม่ทราบฝ่ายย้ายฐานบัญชาการออกจากแนวพรมแดนไทย
1.3  พ.ศ. 2501 มีการจัดตั้งกองบัญชาการไม่ทราบฝ่ายติดชายแดน อ.เวียงแหงตลอดจนคณะผู้ก่อตั้งดื่มน้ำสาบานที่ “ท่าผาแดง” และจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ เดินทางตรวจราชการชายแดน ณ อ.เวียงแหง มีเหรียญสมเด็จพระนเรศวร รุ่น 1 (พ.ศ.2501)


1.4 พ.ศ.2440 บันทึกการตรวจราชการมณฑลลาวเฉียง ของ ปิแอร์ โอร์ต ผู้ช่วยด้านกฎหมายของเจ้าพระยาอภัยราชา(โรลัง จักแมงส์)ในรัชกาลที่ 5 เดินทางขึ้นมาเชียงใหม่ ในฐานะผู้แทนสยามมีอำนาจเต็มในการพิจารณาคดีทหารสยาม ที่เชียงใหม่ ทำร้ายร่างกาย รองกงสุลอเมริกาประจำเชียงใหม่ และมีหน้าที่ตรวจราชการการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อรายงานต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้บันทึกว่า ..เชียงใหม่ มีเมืองในสังกัด 10 เมือง โดยเฉพาะแอ่งพื้นที่ ”เมืองแหง” มีถึง 2 เมือง คือ 1.เมืองแหงเหนือ 2.เมืองแหงใต้ 3.เมืองฝาง 4. เมืองเชียงราย 5.เมืองเชียงแสน 6.เมืองปาย 7.เมืองแม่ฮ่องสอน 8.เมืองขุนยวม 9.เมืองยวม(อ.แม่สะเรียง) 10.เมืองงาย(อ.เชียงดาว)
1.5 พ.ศ. 2438 เรื่อง “เมืองแหงวิวาทเมืองปาย ร.ศ.114” ในสมัยพระเจ้าอินทร วิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 โดยเจ้าเมืองปาย (อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน) ฟ้องกล่าวโทษเจ้าเมืองแหง (อ.เวียงแหง เชียงใหม่) ว่าเป็นแหล่งซ่องสุมโจรไปปล้นสดมภ์ราษฎรเมืองปาย และประการสำคัญกล่าวหาว่าเจ้าเมืองแหงก่อการกบฏต่อราชอาณา จักรสยาม โดยนำกองทัพพม่าเข้ามาจะรบชิงเอาเมืองปายและเมืองงาย(อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่) จนข้าหลวงใหญ่ผู้รักษาราชการมณฑลลาวเฉียงทำหนังสือรายงานต่อสมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และทูลเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงวินิจฉัยแก้ไขปัญหาของ “เมืองแหง”
1.6 พ.ศ.2432 เรื่อง “รายงานระยะทางในราชการตรวจพระราชอาณาเขตหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ร.ศ.108” โดยคณะของพระวิภาคภูวดล (James Fitzroy McCarty)เจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรกของประเทศไทย เดินทางด้วยช้างสำรวจพระราชอาณาเขตชายแดนล้านนาเป็น ครั้งแรก จากเชียงใหม่มุ่งสู่ทิศเหนือ จรดฝั่งแม่น้ำสาละวินที่ ท่าสงิ (ในพม่า) จากนั้นวกไปทางตะวันออกแล้วล่องใต้ผ่านเมืองทา เมืองแหงเหนือ เมืองแหงใต้ ซึ่งรายงานระบุว่าเมืองแหง มีประชากรประมาณ 300 คน..
1.7 พ.ศ.2424 เรื่อง “ A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States“โดย Holt S.Hallett วิศวกรสำรวจสร้างทางรถไฟผ่านเชียงใหม่ ไปสู่ประเทศจีน บันทึกขณะเดินทางถึงบริเวณพื้นที่อำเภอแม่แตงว่า.. คนพื้นเมืองในยุคนั้น กล่าวถึง “เมืองแหง” ว่าเป็นเมือง “โบราณ” และกำลังจะถูกลืมเลือน…
1.8 พ.ศ.2417 เรื่อง “ให้จัดการรักษาเขตแดนตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2417” โดยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้มีศุภอักษรทูลเกล้าฯถวายรายงานในรัชกาลที่ 5 ความว่า “เชียงใหม่ได้ปฏิบัติตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ที่สยามทำกับประเทศอังกฤษ ซึ่งปกครองพม่า ในขณะนั้นแล้ว โดยเชียงใหม่ได้จัดตั้งกองกำลังประจำรักษาด่านทั้ง 8 ช่องทางที่ราษฎร ใช้เดินทางติดต่อค้าขายกับพม่า และ 1 ใน 8 ช่องทางนั้นมีช่องทาง “เมืองแหง” รวมอยู่ด้วย แต่ขณะนั้นเมืองแหงเป็น “เมืองร้าง”จึงจัดให้คนเมืองกื้ด (ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง )จำนวน 50 คนไปดูแลรักษาด่าน คุ้มครองผู้เดินทางค้าขายและปราบปรามโจรผู้ร้าย..
1.9 พ.ศ.2408 เรื่อง “หนังสือและคัดบอกเมืองเชียงใหม่ “ระบุว่า สมัยพระเจ้ากาวิโรรส สุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 สั่งให้เจ้าบุญทาและข้าไพร่ไปรักษา “ เมืองแหง ” และให้แผ้วถางเส้นทางตลอดสาย ไปยังพม่าจรดฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่ “ท่าผาแดง” (ใกล้กับสบจ้อด) เพื่อเชื่อมเส้นทางฝั่งพม่า และได้รับเจ้าพม่ามาประทับแรม ณ เมืองเชียงใหม่..
1.10 พ.ศ.2388 เรื่อง “คำให้การท้าวสิทธิมงคล” ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในพระเจ้าพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 4 ไปสืบราชการลับและถูกจับขังคุกในพม่า ณ “เมืองนาย” เป็นเวลา 1 ปีเศษ ต่อมาไดัรับการปล่อยตัวกลับสู่เชียงใหม่ และเดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อให้ปากคำต่อ พระยาจุฬาราชมนตรี ในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2388 ความว่า ..เส้นทางจากเมืองนาย(ในพม่า) มายังแม่น้ำคง (สาละวิน) มี 5 เส้นทาง และพม่ากลัวเส้นทางสายเมืองนาย – เมืองปั่น – ท่าผาแดง – ซึ่งจะผ่าน “เมืองแหง” ตรงสู่เมืองเชียงใหม่ มากที่สุด เพราะเป็น เส้นทางใหญ่ เดินง่าย และใกล้เมืองเชียงใหม่ มากที่สุด พม่ากลัวกองทัพเชียงใหม่จะไปตีพม่าทางนี้ พม่าจึงตั้งด่านที่ “เมืองปั่น” และ “ท่าผาแดง” โดยจัดให้ทหาร ลาดตระเวณตลอดเวลา
1.11.พ.ศ.2327 เรื่อง “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ “ บันทึกว่า สมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 สั่งให้เจ้าอุปราชธรรมลังกา ยกกำลังทหาร 500 คน ไปเข้าตีกวาดต้อนเทครัวราษฎร จากเมืองจวด(จ้อด) เมืองแหน ลงมาใส่ไว้ในเมืองเชียงใหม่
1.12 พ.ศ.2317 พม่าบันทึกไว้ในมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ความว่า..พญาจ่าบ้าน กับพญากาวิละไปเข้าฝ่ายอยุธยา ขับไล่แม่ทัพพม่าสีหะปะเต๊ะ ออกจากเชียงใหม่ สีหะปะเต๊ะ ทนฝีมือไม่ไหว ก็แตกถอยหนีมายัง “เมืองแหน” และจนต้องถอยมาอยู่ “เมืองนาย”

1.13 พ.ศ.2148


1.13.1  หลักฐานจาก Zinme  Yazawin (พงศาวดารเชียงใหม่)ฉบับบันทึกในสมัยพระเจ้านรธามังช่อซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ และตรงกับปีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพจากพระนครอยุธยา มาแรมทัพที่เชียงใหม่ เป็นเวลา ๑ เดือน โดยพระเจ้านรธามังช่อ ได้ถวายพระธิดาแด่สมเด็จพระนเรศวรฯ และพระเจ้านรธามังช่อ ก็ร่วมเสด็จไปกับทัพหลวงมุ่งหน้าไปเมืองอังวะ  ด้วย....โดยบันทึกว่าเชียงใหม่ มีเมืองขึ้นอยู่ในสังกัดจำนวน ๕๗ เมือง และมี                “เมืองแหงหลวง”(อ.เวียงแหง)เป็นเมืองขนาดกลางอยู่ด้วยในขณะนั้น ซึ่งจะไปสอดคล้องกับ “เมืองหลวง” ซึ่งเป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรสวรรคต ในพงศาวดารอยุธยาฉบับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทย ต่างยอมรับว่าบันทึกได้เที่ยงตรงที่สุดในบรรดาพงศาวดารไทยด้วยกัน 
“เมืองแหงหลวง” กับ “เมืองหลวง” เป็นชื่อที่ถูกบันทึกใกล้เคียงกันมากที่สุด โดยอาลักษณ์ผู้บันทึก อาจจะพลั้งพลาดหรือหลงลืม หรือละไว้โดยเป็นที่เข้าใจในสมัยนั้นก็สุดที่จะคาดเดา จากชื่อเต็ม “เมืองแหงหลวง” จึงเขียนเป็น “เมืองหลวง”  เมืองที่สมเด็จพระนเรศวร สวรรคต เมื่อ วันจันทร์  25 เมษายน พ.ศ. 2148


1.13.2 พม่าบันทึกไว้ในมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ความว่า  
           ..จ.ศ.974 พระเจ้าอยุธยา พระนเรศ ทรงเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่  จะไปตีเมืองอังวะ  ครั้นเสด็จถึง “เมืองแหน” แขวงเมืองเชียงใหม่   ก็ทรงประชวรในเร็วพลัน   “ ก็สวรรคต ” ในที่นั้น..


1.14 พ.ศ.2124 เรื่อง “ตำนานราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่” บันทึกว่า ในปี พ.ศ.2124 “เมืองแหง” ยังไม่ได้แต่งตั้งเจ้าฟ้าขุนกินเมือง... เวียงเธริง(เทิง) 1 เวียงเชียงของ 1 เวียงเมืองสาด 1 เวียงเมืองแหง 1…
1.15 พ.ศ.2112 พม่าบันทึกไว้ในมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ความว่า
…จ.ศ.929 ออกญาธรรมราชา (ขุนพิเรนทรเทพ) เจ้าเมืองพิษณุโลก มีใบบอกไปยังพระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) ว่าเจ้าเมืองเลียงเชียง(ล้านช้าง) ยกทัพหมายเข้าตีเมืองพิษณุโลกพระเจ้า หงสาวดีจึงจัดทัพเจ้าประเทศราชเงี้ยว(ไทใหญ่) จำนวน 6 ทัพทหาร 6 หมื่นคน ม้า 6 พันตัว ช้าง 600 เชือก โดยมีรับสั่งให้ยกทัพไปทาง “เมืองนาย” ครั้นกองทัพมาถึง “เมืองแหน” เป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้าเมืองเลียงเชียงทราบว่า กองทัพหงสาวดี ยกมาช่วย จึงรีบถอยหนี พระเจ้าหงสาวดี จึงมีท้องตราให้เรียก 6 กองทัพกลับ

1.16 พ.ศ.2101 เรื่อง “ตำนานพื้นเมืองลานนาเชียงใหม่” พม่าจัดทัพเจ้าประเทศราช ไทใหญ่ 19 เจ้าฟ้า ยกพลทหาร 9 หมื่นคน ข้ามแม่น้ำสาละวินที่  “ท่าผาแดง”แล้วแยกออกเป็น 3 ทัพ
ทัพที่ 1 ไปทางเมืองปาย(อ.ปาย )
ทัพที่ 2 ไปทางเมืองแหง(อ.เวียงแหง)
ทัพที่ 3 ไปทางเมืองเชียงดาว(อ.เชียงดาว)
พระเจ้าพม่า สั่งสำทับคาดโทษ โดยจะตัดศีรษะแม่ทัพเสียบประจานหากไม่สามารถเคลื่อนทัพมาบรรจบในวันเดียวกันที่เมืองเชียงใหม่ และในที่สุดกองทัพทั้ง ๓ ก็เคลื่อนพลมาสนธิกำลังได้ในวันเดียวกัน และเข้าทำการโจมตีเพียง ๓ วันก็ยึดครองนครเชียงใหม่ เมืองราชธานีของอาณาจักรล้านนาที่เจริญรุ่งเรืองมานานกว่า ๒๖๒ ปีก็ถึงกาลล่มสลายตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในสมัย พระเจ้าบุเรงนอง

2. หลักฐานเชิงนิรุกติศาสตร์ โดยจิตร ภูมิศักดิ์ นักปราชญ์แห่งสังคมไทย วิเคราะห์ภาษาเขียนของพม่า ว่า ได้รับอิทธิพลมาจากภาษามอญ
เช่น ภาษาไทยคำว่า “เม็งราย” พม่าจะเขียนเป็น “รามัญ”
คำว่า “หาง” พม่าจะเขียนเป็น “หัน”
คำว่า “แหง” พม่าจะเขียนเป็น “แหน”
ดังนั้น เมือง “แหง”(ภาษาไทย) กับเมือง “แหน”(ภาษาพม่า) คือ ชื่อเมืองเดียวกัน

3.หลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์
3.1 แผนที่สมัยใหม่ ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายจากดาวเทียมและภูมิรัฐศาสตร์ทำให้มองเห็นภาพอาณาบริเวณ ตั้งแต่ เมืองอังวะ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเชียงใหม่ ตลอดจนครอบคลุมพื้นที่ เมืองนาย (เป็นศูนย์กลางอำนาจของ ไทใหญ่ ทางภาคใต้ และตามหลักฐานของท้าวสิทธิมงคล(สมัยรัชกาลที่ ๓)ซึ่งถูกพม่าจับขังคุกที่ ”เมืองนาย“ ให้การว่า “เมืองนาย” บังคับ 17 หัวเมืองไทใหญ่ ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ สาละวิน และครอบคลุมพื้นที่บริเวณ”เมืองปั่น” มายังแม่น้ำสาละ วิน ณ จุดท่าข้ามหลัก 2 ท่าข้าม คือ “ท่าศาลาหรือท่าซาง” แล้วตรงไปทางทิศตะวันออก ผ่านเมืองต่วน จากนั้น หักลงใต้ผ่านเมืองหาง มาเชียงดาว ถึงเชียงใหม่ อีกท่าข้ามอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองปั่น คือ “ท่าผาแดง”ตามสายน้ำจ้อด น้ำทา สู่ “เมืองแหง”ล่องตามสายน้ำแม่แตง ผ่านเมืองคอง(อ.เชียงดาว) มาออกที่เมืองกื้ด (อ.แม่แตง) ลัดเลาะตาม ลำห้วยแม่ขะจาน ผ่านบ้านช้าง บ้านแม่ขะจาน มายังพระธาตุจอมแจ้ง (ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง)เข้าสู่ อ.แม่ริม ถึงเชียงใหม่
จากแผนที่สมัยใหม่ตลอดจนภาพถ่ายดาวเทียมทำให้มองเห็นภาพชัดเจนว่า “เมืองแหง”(อ.เวียงแหง) ตั้งอยู่กึ่งกลางของเส้นทะแยงมุมระหว่าง “เมืองนาย” (ในพม่า)กับเมืองเชียงใหม่ ถ้ามองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ “เมืองแหง”เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ของเชียงใหม่และพม่า เพราะพม่าสามารถบังคับหัวเมืองไทใหญ่ มารวมไพร่พลที่”เมืองนาย”แล้วเคลื่อนทัพข้ามแม่น้ำสาละวิน ณ “ท่าผาแดง”แล้วแยกเป็น 3 ทัพ เคลื่อนมาทาง อ.ปาย สายหนึ่ง เคลื่อนมาทาง “เมืองแหง”(อ.เวียงแหง)ล่องตามสายน้ำแม่แตงสายหนึ่ง และเคลื่อนมาทาง อ.เชียงดาว ล่องตามสายน้ำแม่ปิง สายหนึ่ง ดั่งหลักฐานในตำนานพื้นเมืองลานนาเชียงใหม่ บันทึกไว้ว่า พระเจ้าบุเรงนองได้เคยใช้เส้นทางนี้ เคลื่อนไพร่พลถึง 90,000 คน เพื่อมายึดครอง นครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2101


3.2 ด้านอุทกวิทยาของแม่น้ำสาละวิน ถ้าดูตามแผนที่ จะสังเกตเห็นว่า แม่น้ำสาละวิน ไหลเป็นเส้นตรงจากเหนือสู่ใต้ตามแรงดึงดูดของโลก เมื่อใกล้ถึงชายแดนไทยมีแนวเทือกเขาแดนลาวขวางกั้นทอดตัวตามแนวทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก เป็นผลให้แม่น้ำสาละวิน ค่อยๆเปลี่ยนทางเดินเฉียงไปทางทิศตะวันตก ประกอบกับ  ณ จุดท่าข้าม”ท่าผาแดง”  มี “เกาะ” อยู่กลางแม่น้ำ ดังนั้น การข้ามแม่น้ำจึงทำได้ง่ายกว่าเพราะเป็นการข้าม 2 ช่วงสั้นๆ กล่าวคือ ช่วงแรกยาวประมาณ 130 เมตรจากนั้นจึงเดินบนตัวเกาะซึ่งกว้างประมาณ 100 เมตร และช่วงที่ 2 ยาวประมาณ 30 เมตร รวมระยะทางประมาณ 230 เมตร จึงเป็นการข้ามแม่น้ำสาละวินจริง 130 เมตร และเดินบนตัวเกาะอีก 100 เมตร
ส่วน“ท่าศาลา” นี้อยู่ตรงจุดแม่น้ำสาละวินไหลเป็นเส้นตรง อีกทั้งไม่มี “เกาะ”ตรงจุดท่าข้าม เมื่อสอบถามอดีตหนุ่มศึกหาญ(ทหารขบวนการกู้ชาติไทใหญ่) ซึ่งเคยข้ามทั้ง 2 ท่าข้าม เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ท่านจัดลำดับท่าข้ามที่ปลอดภัยที่สุดคือ “ท่าผาแดง” ซึ่งจะผ่านไปยัง”เมืองแหง” และที่ปลอดภัยรองลงไป เนื่องจาก กระแสน้ำไหลเชี่ยวมากกว่า คือ  “ท่าศาลา” ซึ่งจะผ่านไปยัง “เมืองหาง


3.3 ด้านโบราณคดีของ“เมืองแหง” เมืองแหงเป็นเมืองโบราณ ปัจจุบันยังปรากฏคูน้ำ คันดิน ล้อมรอบเมือง และมีวัดร้างมากกว่า 50 แห่ง โดยเฉพาะวัดป่าสัก พบฐานเจดีย์ วิหาร ศาลา บนเนื้อที่มากกว่า 40 ไร่ เหนือวัดนี้ห่างไปประมาณ 1 กิโล เมตร ยังพบวัดร้างวัดกำแพงงาม พร้อมเจดีย์ยอดหัก ความสูงประมาณ   6 เมตรพร้อมแนวกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน โดยนักโบราณคดี ต่างชี้ว่าวัดนี้ได้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 (พ.ศ.2100-2200)  ในบริบท ที่สร้างขึ้นมา ณ เวลานั้นอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะด้านศิลปกรรมของเจดีย์อาจได้รับอิทธิพลแบบสุโขทัย นอกจากนี้มีวัดที่มีพระสงฆ์กว่า 20 วัด พระธาตุ 9 องค์ ที่สำคัญได้แก่  พระธาตุแสนไห  พระธาตุเวียงแหง  พระพุทธรูปสำคัญเก่าแก่ ตลอดจนโบราณวัตถุ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งนักโบราณคดีได้พบเครื่องมือหินกระเทาะของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ที่ถ้ำหินปูน ใกล้กับเมืองโบราณประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งแสดงว่าบริเวณแอ่งเวียงแหง เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มานานแล้วกว่า 5,000 ปี


3.4 ผลการวิจัยด้านโบราณคดี  จากคณะมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สุ่มตัวอย่างของอิฐวัดร้างในพื้นที่อำเภอเวียงแหง มาวิเคราะห์ลักษณะจุลสัณฐานของอิฐ(Petrographic Microscope) และใช้วิธีการศึกษาแบบ(thin section)ทางกล้องจุลทรรศน์ พบว่ามีเพียงอิฐ จากวัดพระธาตุแสนไห เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีการผสมแกลบข้าว เหมือนกับการทำอิฐอยุธยา(สมัยอยุธยา)จึงสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอิฐที่มีการผสมอินทรีย์วัตถุเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา อีกทั้งยังพบว่าอิฐวัดพระธาตุแสนไหแห่งนี้ มีรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งมีการก่ออิฐขึ้นรูปเป็นเสาทรงกลม ซึ่งแตกต่างจากวัดร้างอื่นๆ ในอำเภอเวียงแหง อย่างสิ้นเชิง


3.5 จุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร (ดูแผนที่ประกอบ) อ.เวียงแหง เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสะกัดกั้นมิให้พม่าข้าศึกยกพลเคลื่อนทัพมาประชิดติดคอหอยเมืองเชียงใหม่ เพราะหากข้าศึกครอบครองพื้นที่เวียงแหงแล้ว เหลือระยะทางตรงเพียงประมาณ 90 กิโลเมตร ก็จะถึงเชียงใหม่ หรือประมาณ 2 วันเดินเท้า ของทหารสื่อสารโบราณ  อีกทั้งในปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ช่องทางหลักแต่ง อ.เวียงแหง มีความเข้มข้นมากกว่าช่องทางกิ่วผาวอก อ.เชียงดาว ซึ่งทางการเปิดเป็นจุดผ่อนปรน เพื่อเดินทางเข้าสู่เมืองหางได้  ในขณะที่ช่องทางหลักแต่ง อ.เวียงแหง ถูกปิดตาย  ไม่มีการเจรจาใดๆทั้งสิ้น ใต้พื้นแผ่นดินยังคงหนาแน่นไปด้วยวัตถุระเบิดจากกองกำลังทหารของประเทศเพื่อนบ้าน



ประกอบกับปัจจัยในการทำสงครามนั้น นอกจากความสามารถของแม่ทัพนายกอง  ไพร่พลทหาร ยุทธศาสตร์การรบ  อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพแล้ว  ยังต้องคำนึงถึงเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงทหารทั้งกองทัพด้วย
       เนื่องจากเส้นทางจากเชียงใหม่  ไปถึง “เมืองนาย”(ในพม่า ) โดยผ่านเส้นทาง “เมืองแหง” จะสั้นกว่า เส้นทางผ่าน “เมืองหาง” ไม่น้อยกว่า 60 กิโลเมตร หรือประหยัดเวลาในการเดินทางถึง 3 วัน ของการเดินทัพสมัยโบราณ(มีค่าเฉลี่ย เดินทางได้ประมาณวันละ 20 กม.)
ถ้าคิดโดยเฉลี่ยทหาร 1 คน ต่อข้าวสาร 1 ลิตร ต่อ 1 วัน จะประหยัดข้าวสารได้ถึง 300,000 ลิตร หรือ  15,000 ถัง  (จากฐานทหารในกองทัพหลวงสมเด็จพระนเรศวรฯ 100,000 คน) ดังนั้นในด้านยุทธศาสตร์การทหาร  เส้นทางผ่าน “เมืองแหง” จะย่นย่อระยะ เวลาการเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน ประหยัดเสบียงอาหารประเภทข้าวสาร ไม่น้อยกว่า 300,000 ลิตร



จากหลักฐานที่นำเสนอ ทั้งด้านเอกสารใบบอก จดหมายเหตุ พงศาวดารอยุธยา  คัมภีร์ล้านนา  พงศาวดารพม่า  บันทึกชาวตะวันตก หลักฐานทางนิรุกติศาสตร์ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งประกอบไปด้วยแผนที่สมัยใหม่ ภาพถ่ายดาวเทียม ภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ อุทกศาสตร์ ยุทธศาสตร์การทหาร  ตลอดจนหลักฐานด้านโบราณคดี  โดยนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เชื่อมโยงหลากหลายมิติ
จึงได้ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า  “เมืองแหน” ที่บันทึกไว้ในพงศาวดารพม่า เป็นเมืองเดียวกันกับ “เมืองแหง” (อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่)ในเมื่อพงศาวดารพม่าบันทึกว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สวรรคต ณ “เมืองแหน” ดังนั้นในความหมายเดียวกัน ก็คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จสวรรคต ณ “เมืองแหง” 
(อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่)




ชัยยง ไชยศรี.