Narasuan King

Amps

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

การคำนวณวันเดินทัพโบราณ สมเด็จพระนเรศวร

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นการแรมทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งศึกอังวะ พ.ศ.2148


จากเชียงใหม่แรมทัพถึงเมืองแหนและสวรรคต ณ เมืองแหน(เมืองแหง-อ.เวียงแหง?) แขวงเมืองเชียงใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ.2148


ชัยยง ไชยศรี * *


บทนำ


…. “ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ทรงอุทิศพระองค์กอบกู้เอกราช ปกป้องบ้านเมืองให้ปวงประชาราษฎร์ร่มเย็น จนประวัติศาสตร์ได้จารึกพระประวัติและพระกรณียกิจไว้อย่างน่าภาคภูมิ ขอวีรกรรมที่ทรงเสียสละเพื่อรักษาแผ่นดินด้วยความอดทน กล้าหาญ จงเป็นเครื่องเตือนใจให้ไทยทุกคน ได้ตระหนักสำนึกในชาติภูมิของตน และพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อดำรงไว้ซึ่งประโยชน์สุขส่วนรวม…”

พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานการอภิปรายเรื่อง “ ความสำคัญของรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในประวัติศาสตร์ไทย ” 1 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

พระเกียรติคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีมากเกินกว่าจะนำมาร้อยเรียงให้หมดสิ้น ณ ที่นี้ได้ ดังที่ได้อัญเชิญพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาไว้ ณ เบื้องต้นแล้ว


1. มูลเหตุของสงครามครั้งศึกสุดท้าย ศึกอังวะ พ.ศ.2148

ตลอดรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกรีฑาทัพเข้าสู่สงคราม ทั้งเป็นฝ่ายรุกและฝ่ายรับ จำนวน 14 ครั้ง 2 พระองค์กรำศึกอยู่แต่ในสนามรบ ดังเอกสารฮอลันดา 3 ซึ่งบันทึกหลังพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว 30 ปี โดย Jeremias van Vliet ความว่า …สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นนักรบ ที่เก่งกาจ เป็น “ วีรบุรุษนักรบ “ ทรงรบชนะข้าศึกในหลายครั้งและในหลายแดน ทรงทำสงครามอยู่เกือบตลอดรัชกาล Jeremias van Vliet อ้างว่า “ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลา 20 ปี แต่ทรงพำนักอยู่กรุงศรีอยุธยาไม่เกิน 2 ปี เท่านั้น…” อีกทั้งบรรยายการปกครองที่เข้มงวดรุนแรงเด็ดขาดในรัชกาลของพระองค์ว่า “ ได้ทรงสังหารหรือประหารชีวิตผู้คนกว่า 50,000 คน ทั้งนี้ไม่นับผู้ล้มตายในการทำสงคราม การปกครองของพระองค์เป็นที่เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์สยาม..” ซึ่งสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า 4 ก็ระบุไว้เช่นเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ไทยท่านหนึ่ง 5 วิเคราะห์ว่า รัชกาลของพระองค์เป็นช่วงเวลาอันวิกฤตสำหรับอาณาจักรอยุธยา ไทยต้องทำสงครามกับรัฐเพื่อนบ้าน เป็นประจำ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สมเด็จพระนเรศวรอาจทรงใช้มาตรการที่รุนแรง เป็นพิเศษในการปกครองพระราชอาณาจักรส่วนมูลเหตุแห่งสงครามครั้งสุดท้ายนั้น สืบเนื่องมาจากศูนย์กลางอำนาจของพม่า ขณะนั้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอำนาจ โดยพระเจ้าอังวะเป็นขุมอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด อีกทั้งพระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ที่ประสูติแต่พระสนม ประกอบกับมีการกระจายข่าวว่าพระองค์จะเป็นมหาราช ที่ยิ่งใหญ่ เฉกเช่นพระราชบิดา ทำให้ผู้คนเมืองน้อยใหญ่เข้ามาสวามิภักดิ์ พระองค์จึงขยายพระราชอำนาจโดยเข้ายึดครอง เมืองนาย ซึ่งเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาของอยุธยา ทั้งนี้เพื่อกรุยทางเข้ายึดครองนคร แสนหวี กรุงราชธานีของอาณาจักรไทยใหญ่ต่อไป ความทราบถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงขัดเคือง จึงมีพระบรมราชโองการกรีฑาทัพทหาร 100,000 คน ยกออกจากกรุงศรีอยุธยาในวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม 6 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ.2147 6 โดยยกทัพผ่านทางเชียงใหม่ ไปตีเมืองนายและกรุงอังวะ เมื่อมาถึงนครเชียงใหม่ ทรงพักทัพบำรุงรี้พล เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมกับเกณฑ์ไพร่พลฝ่ายเหนือจำนวน 100,000 คน เข้าสมทบ โดยให้สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองฝาง ล่วงหน้าไปก่อน ส่วนทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นจอมทัพยกตามไปภายหลัง…….


และมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่าได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า…


………ครั้นจุลศักราช 974 พระเจ้าอยุธยา พระนเรศ ทรงเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่ จะไปตีเมืองอังวะ ครั้นเสด็จมาถึง เมืองแหน แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงประชวรโดยเร็วพลัน ก็ สวรรคต ในที่นั้น…..


2. ความสำคัญของการบันทึกประวัติศาสตร์ฝ่ายพม่า

ในส่วนที่บันทึกเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระนเรศวร นั้น… “ ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ 7 เราสามารถกล่าวได้อย่างกว้างๆว่า มหาราชวงษ์ฉบับหอแก้ว(มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า) ของพม่า


ซึ่งกษัตริย์บาจีดอ โปรดให้นักปราชญ์ชำระขึ้นใน พ.ศ. 2372 โดยยึดหนังสือ “ มหาราชวงษ์ ” หรือ “ มหายาซะวินซี ” ที่บันทึกโดยนักปราชญ์อูกะลา (พ.ศ.2257-2281) ว่า มีความแม่นยำสูง ทั้งนี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจดหมายเหตุร่วมสมัยของชาวยุโรป เช่น Gasparo Balbi , Carrsare Fredericke , Faria y Sousa , Peter Floris และบันทึกของบาทหลวงคณะเจซูอิต ซึ่งเพิ่งค้นพบใหม่


สำหรับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของไทยนั้น ฉบับหลวงประเสริฐฯมีความแม่นยำสูง


ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ชำระขึ้นในปี พ.ศ.2223 ก่อนกรุงแตกครั้งที่ 2 โดยอิงเอกสาร หรือ archive-based เช่นปูมโหร , บันทึกการเดินทัพ หรือคำกราบบังคมทูลรายงาน และสอดคล้องกับพงศาวดารของพม่าฉบับหอแก้ว เป็นต้น สำหรับพงศาวดารฉบับพิสดารซึ่งแต่งชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น หลักฐานชั้นต้นได้ถูกพม่าเผาตอนเสียกรุงฯครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 ทำให้ขาดแคลนหลักฐานต้นฉบับ จึงยึดเอาคำบอกเล่าของผู้รอดตายในสงคราม หรือคำให้การต่างๆ ซึ่งความแม่นยำจะลดน้อยลงตามลำดับ


3. ความสำคัญของ “ เมืองแหน ” ที่บันทึกไว้ในมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า


ประวัติศาสตร์พม่าได้ให้ความสำคัญต่อ “ เมืองแหน “ ค่อนข้างสูง โดยมีการบันทึกไว้ถึง 3 ครั้ง 3 เหตุการณ์ ตลอดช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปีเศษ คือ


ครั้งที่ 1 ในปี จ.ศ. 929 บันทึกไว้ว่า 8 …..ออกญาธรรมราชา(ขุนพิเรนทรเทพหรือพระมหาธรรมราชา) ซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ที่ครองเมืองพิศษณุโลกย์(พิษณุโลก) ได้มีใบบอกมากราบทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า เจ้าเมืองเลียงเชียง(ล้านช้าง) ได้ยกพลมาตีเมืองพิษณุโลกเป็นอันมาก ครั้นพระองค์ทรงทราบ จึงทรงจัดให้เจ้าประเทศราชเงี้ยว(ไทยใหญ่) คือ เมืองยินเจ้าฟ้า 1 เมืองก่องเจ้าฟ้า 1 เมืองไมเจ้าฟ้า 1 อนุผ่องเจ้าฟ้า 1 ย่องห้วยเจ้าฟ้า 1 เมืองไน(นาย)เจ้าฟ้า 1 รวม 6 ทัพ ช้าง 600 ม้า 6,000 ทหาร 60,000 ครั้นทรงจัดเสร็จแล้ว มีรับสั่งให้ยกไปทางเมืองไน(นาย) ครั้นยกกองทัพไปถึง “ เมืองแหน ” เป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้าเมืองเลียงเชียงทรงทราบว่ากองทัพกรุงหงสาวดี ยกกองทัพมาช่วย ก็รีบถอยหนี พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบจึงมีท้องตราให้เรียก 6 กองทัพกลับ …..


อีก 38 ปีต่อมา ..พม่าได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญยิ่งถึง “ เมืองแหน “ อีกครั้ง


ครั้งที่ 2 ในปี จ.ศ.974 บันทึกไว้ว่า 9 …..ครั้นจุลศักราช 974 พระเจ้าอยุธยา พระนเรศ ทรงเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่ จะไปตีเมือง อังวะ ครั้นเสด็จมาถึง “ เมืองแหน ” แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงประชวรโดยเร็วพลัน ก็ สวรรคต ในที่นั้น…


และอีก 169 ปีต่อมา พม่าได้บันทึกถึง “เมืองแหน “ เป็นครั้งสุดท้าย(ตรงกับรัชสมัย พระเจ้าตากสินมหาราช)


ครั้งที่ 3 ในปี จ.ศ.1129 (พ.ศ. 2317) บันทึกไว้ว่า 10 ……ในขณะซึ่งพญาฉาปัน(พญาจ่าบ้าน) กับพญากาวิละ ไปเข้ากับอยุธยา นั้น ฝ่ายหัวเมืองขึ้นเชียงใหม่ 57 หัวเมือง ก็กระด้างกระเดื่องแข็งเมือง ขึ้นทุกๆเมือง แล้วพญาฉาปันพูดกับพญาตากแสน(พระเจ้าตากสิน) ว่า ถ้าในเวลานี้เราตีเชียงใหม่ก็จะได้โดยง่าย แล้วพญาตากแสนจัดคนประมาณ 4 - 5 หมื่น ยกมาโดยด่วน ครั้นเห็นกองทัพสีหะปะเต๊ะ (เนเมียวสีหบดี) ก็มิได้หยุด ตรงเข้าตีตลุยเข้าไป


ฝ่ายกองทัพสีหะปะเต๊ะ ทนฝีมือไม่ได้ ก็แตกหนีถอยไปยัง “ เมืองแหน ” และจนต้อง ถอยไปอยู่ เมืองนาย


ส่วน เมืองหัน(หาง) 11 ก็ถูกบันทึกไว้เช่นเดียวกัน แต่มีความสำคัญน้อยกว่า และอยู่นอกเส้นทางเดินทัพ โดยบันทึกเพียงครั้งเดียว ในปี จ.ศ.1127 (พ.ศ. 2315) ความว่า….ฝ่ายสีหะปะเต๊ะ (เนเมียวสีหบดี) แม่ทัพที่ยกไปตีทางเชียงใหม่นั้น ได้รับท้องตราพระบรมราชโองการว่า ให้สีหะปะเต๊ะ ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา จึงจัดให้ เจ้าเมืองหัน(หาง) ทัพ 1 เจ้าเมืองหล่งทัพ 1 เจ้าเมืองหล่มทัพ 1 เจ้าเมืองจันทัพ 1 เจ้าเมืองปั่นทัพ 1 เจ้าเมืองญวนทัพ 1 เจ้าเมืองงะสิทัพ 1เจ้าเมืองเลียงเชียงทัพ 1 เจ้าเมืองญองทัพ 1 ศรีศิริราชสังจันทัพ 1 รวม 10 ทัพๆ นี้ มีพลทหาร 8,000 ช้างรบศึก 100 ม้า 300 มอบอาญาสิทธิ์ให้ ศรีศิริราชสังจัน เป็น แม่ทัพคุมพลทหาร ยกล่วงหน้าไปทางบกก่อน….


และมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ยังได้เขียน เมืองแหน กับเมืองหัน(หาง) เป็นภาษาเขียนของพม่า ไว้แตกต่างกันอย่างชัดเจน 12 ดังนั้น เมือง “ แหน ” กับเมือง “ หัน(หาง) ” จึงเป็นคนละเมือง


จากมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ที่ได้บันทึกเหตุการณ์ทำให้ทราบได้ว่า “ เมืองแหน “ เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์การทหาร ที่กองทัพพม่าใช้เป็นเส้นทางเดินทัพทั้งขณะเข้าโจมตี เมืองเชียงใหม่ หรือเสริมกำลังช่วยเหลือเมืองพิษณุโลกและถอยร่นตั้งหลักในยามฉุกเฉินที่พ่ายแพ้ ต่อกองทัพพระเจ้าตากสินและพญากาวิละ ในขณะเดียวกัน 57 หัวเมืองขึ้นของ เชียงใหม่ ก็ก่อการกบฎแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นต่ออำนาจพม่า พร้อมกับลุกฮือขึ้นจับดาบหมายซ้ำเติมแม่ทัพเนเมียวสีหบดี ให้ดับดิ้นสิ้นไป จนแม่ทัพผู้เจนจัดในการรบ ต้องพลิกยุทธวิธีหาทางหนีไปทางเส้นทางลัด ผ่าน “เมืองแหน” เพื่อข้ามแม่น้ำสาละวิน สู่ “เมืองนาย” ซึ่งเส้นทางลัดนี้แทบจะไร้การต่อต้านเนื่องจากเส้นทางผ่านเมืองเล็ก เมืองน้อย เช่น เมืองกื้ด เมืองคอง เมืองแหง ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นช่องเขายาวเหยียดจากเหนือจรดใต้ การใช้กำลังจากเมืองใหญ่เช่นเมืองฝางเพื่อสะกัดกั้นทำลายกองทัพพม่าจะต้องเคลื่อนกำลังพลตัดสันเขาจากด้านทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก ลูกแล้วลูกเล่า และเป็นระยะทางไกลซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการยุทธวิธีและคาดว่าในห้วงเวลาอันฉุกเฉินเร่งรีบเช่นนี้ กองทัพจากเมืองฝาง หรือเมืองอื่นคงอยู่ในเมืองที่ตั้งเพื่อป้องกันเมืองของตนเองมากกว่าที่จะเคลื่อนกำลังจู่โจมกองทัพเนเมียวสีหบดี ที่ต้องกลายเป็นเสือลำบาก สู้พลาง หนีพลาง ถอยร่นอย่างสิ้นลายไปทาง “ เมืองแหน ” และรีบเร่งข้ามแม่น้ำสาละวิน ไปตั้งหลักเลียแผล อยู่ ณ “ เมืองนาย “ โดยปิดฉากไม่ให้พม่ามามีอำนาจเหนือเชียงใหม่ และราชอาณาจักรสยามได้อย่างสิ้นเชิง นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


4. “ เมืองแหน “ ตั้งอยู่ ณ พิกัดใด ?

จากข้อมูลในมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า วิเคราะห์เบื้องต้นได้ว่าพิกัดของ “ เมืองแหน “ ตั้งอยู่ กึ่งกลางระหว่างเมืองใหญ่ 2 เมือง คือ “เมืองนาย “ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินในเขตพม่า และ“ เมืองเชียงใหม่ “ ราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนา “เมืองแหน”เป็นเมืองยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนทัพที่สั้น ลัดตัดตรงระหว่าง 2 เมืองใหญ่ดังกล่าว จากแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 250,000 ของกรมแผนที่ทหาร ระวางที่ NE 47-2 , NE 47-3 และ NF 47-14 พบว่าพิกัดของ “เมืองแหน “ ซ้อนทับ กับ “ เมืองแหง ” ซึ่งปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดย”เมืองแหง” ยังคงสภาพเมืองโบราณอีกทั้งยังคงหลักฐานเชิงประจักษ์ คือมีคูน้ำ คันดินล้อมรอบเมืองมีลักษณะคล้ายหอยสังข์ ด้านใต้ของเมืองยกสูงขึ้น เป็นหน้าผาติดแม่น้ำแตง ปัจจุบันสายน้ำแม่แตงได้ Swing ตัวเป็นเส้นตรง ทำให้เกิดดินทับถมจนเป็นพื้นที่เพาะปลูกของชาวเมืองมาหลายชั่วคน ประกอบกับปัจจุบัน “เมืองแหง” (อำเภอเวียงแหง) มีทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ มากมาย มีวัดร้าง 40 กว่าแห่ง วัดมีพระสงฆ์กว่า 20 วัด รวมทั้งสิ้นมีวัดมากกว่า 65 วัด มีพระธาตุ 9 แห่ง พระพุทธรูปศิลปสมัยเชียงแสน ที่งดงามล้ำค่า คู่บ้านคู่เมืองอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับหลักฐานสำคัญชั้นต้นที่เกี่ยวข้องกับเมืองแหง ในฐานะเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์การทหารที่บันทึกไว้ใน Micro Film และเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ


5. หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเมืองแหง ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร


รัชกาลที่ 5


1. พ.ศ.2438 เรื่อง “ เมืองแหง วิวาทกับเมืองปาย ร.ศ.114 “ 13


สมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (พ.ศ.2413-2439) โดยเจ้าเมืองปาย ฟ้องกล่าวโทษเจ้าเมืองแหง ว่า คบคิดกับเจ้าฟ้าไทยใหญ่คือ เจ้าฟ้าเมืองนาย เจ้าฟ้าเมืองปั่น เจ้าฟ้าเมืองเชียงตอง และเจ้าฟ้าเมืองอื่นๆ ก่อการกบฎต่อราชอาณาจักรสยาม จนเรื่องราวทั้งหมดต้อง รายงานถึงเจ้าราชวงษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย กรมทหารเมืองนครเชียงใหม่ พระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และทูลเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงวินิจฉัย เอกสารเรื่องนี้มีทั้งลายมือเขียน และอักษรพิมพ์ดีดสมัยรัชกาลที่ 5 ความยาวมากกว่า 80 หน้า ทำให้ทราบถึง “เมืองแหง” เมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์การทหารได้เป็นอย่างดี


.. ที่ว่าการข้าหลวง เมืองนครเชียงใหม่


วันที่ ๘ พฤษภาคมรัตนโกสินทรศก ๑๑๔


พระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง แจ้งความมายังมิศเตอร์ดัปลยู เยอาเชอร์ เอศไวส กงสุลอังกฤษเมืองนครเชียงใหม่ …ด้วยวันที่ ๖ เดือนนี้เจ้าราชวงษ์ส่งหนังสือพระยาดำรงราชสีห์มาผู้ว่าราชการเมืองปาย ๔ ฉบับว่า ด้วยพวกแสนธาณินทร์พิทักษ์พ่อเมืองแหงมา ขะโมยตีบ้านพระยาดำรงราชสีห์มา ๆ ยิงตายสองคน ถูกปืนมีบาดแผลไปคนหนึ่ง แลแสนธาณินทร์พิทักษ์ออกประกาศเกลี้ยกล่อมคนเมืองปั่น เมืองเชียงตอง เมืองนาย เมืองพุ จะมาตีเอาเมืองปายเก็บทรัพย์สิ่งของทั้งสิ้น ความแจ้งอยู่ในหนังสือพระยาดำรงค์ราชสีห์มาผู้ว่าราชการเมืองปายนั้นแล้ว


การเรื่องเมืองแหงกับเมืองปายเกิดเหตุกันขึ้นนี้ ข้าพเจ้าขอแจ้งต่อท่านทราบ ด้วยแสนธาณินทร์พิทักษ์ พ่อเมืองแหง ซึ่งเป็นคนก่อเหตุร้ายดังกล่าวไว้ข้างต้นนั้น ได้ยกไปตั้งอยู่ที่กิ่วค๊อซึ่งเป็นเขตรแดน เมืองทา ฝ่ายอังกฤษกับเมืองแหงในฝ่ายสยามต่อกัน แสนธาณินทร์พิทักษ์ก็คงจะหลบหนีเข้าไปในเขตรแขวงเมืองทา หรือเมืองอื่นๆในฝ่ายอังกฤษ ขอท่านได้มีหนังสือไปยังข้าหลวงอังกฤษ ณะ เมืองพม่า กำชับเมืองเหล่านี้ คือเมืองปั่น เมืองนาย เมืองเชียงตอง เมืองพุ แลอื่นๆ อย่าให้ไปคบคิดกับแสนธาณินทร์พิทักษ์ พ่อเมืองแหง กระทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นต่อกัน และฝ่ายเมืองปายข้าพเจ้าจะได้จัดให้เจ้าอุตรการโกศล ออกไปจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย ถ้าได้ความประการใด ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ท่านทราบอีกต่อไป


โอกาศนี้ขอท่านรับคำแสดงความนับถือของข้าพเจ้าอย่างสูงด้วย

ทรงสุรเดช

ประทับตราตำแหน่งข้าหลวงใหญ่เป็นสำคัญ

…………………………………………


2. พ.ศ.2432 เรื่อง “ รายงานระยะทางในราชการตรวจพระราชอาณาเขตหัวเมืองลาว ฝ่ายเหนือ ร.ศ.108 ” 14


สมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (พ.ศ.2413-2439) โดยพระวิภาคภูวดล (James Fitzroy McCarty) 15 เจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรกของไทย พร้อมกับข้าราชการในกรมฯได้เดินทางด้วยช้าง สำรวจพระราชอาณาเขตชายแดนล้านนาเป็นครั้งแรก จากเชียงใหม่มุ่งสู่ทิศเหนือจรดฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่ท่าสะงิจากนั้นวกไปทางตะวันออกแล้วล่องใต้ผ่านเมืองทา เมืองแหงเหนือ และเมืองแหงใต้ ซึ่งรายงานระบุว่าเมืองแหงมีบ้านเรือนประมาณ 100 หลังคา ประชากรประมาณ 300 คน และในรายงานยังกล่าวถึงเมืองดินแดนแถบนี้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญที่ฝ่ายอังกฤษซึ่งปกครองพม่าในขณะนั้น ต้องการผนวกเข้าเป็นดินแดนของอังกฤษ และท้ายที่สุดไทยต้องยอมสูญเสียเมืองเหล่านี้ให้อังกฤษไปถึง 13 เมือง (เมืองทา เมืองจ้อด เมืองหาง เมืองต่วน เมืองสาด เมืองยวม เมืองตูม เมืองกวาน เมืองไฮ เมืองฮ่องลึก เมืองโก เมืองแจะและเมืองใหม่) เพื่อแลกกับการรับรองของอังกฤษว่า เมืองเชียงแขง (เมืองสิง) และหัวเมืองฝ่ายตะวันตกของเชียงแสนเป็นของไทย 16 ประชาชนบริเวณนี้ต่างตื่นตระหนกไม่เป็นอันทำมาหากิน เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าบ้านเมืองของตนจะตกอยู่ฝ่ายไทยหรือฝ่ายอังกฤษ ดังบันทึกไว้ที่เมืองทา ว่า 17 …… ….วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2432 “ ทันใดนั้น พระยาเพชเดชผู้รักษาเมืองทามาหานายแถลงพูดว่าบ้านเมืองทุกวันนี้ไม่รู้จะตกอยู่ข้างไหนแน่เป็นการลำบากใจเต็มทีราษฎรฤาก็พากันตื่นแตกไป นายแถลงจึงบอกว่าให้ท่านพระยาอุตส่าห์รักษาบ้านเมืองแล้วให้บอกกับลูกบ้านอย่าให้พากันตื่นตกใจไปเลย ให้กลับมาอยู่บ้านเรือนของตัว อุตส่าห์ทำมาหากินดีกว่าคิดอื่นๆ เพราะการเขตรแดนก็คงจะตัดสินใจให้ตกลงกันในเร็วๆไม่ช้า อนึ่งพระเจ้าอยู่หัวของเรากับพระเจ้าเมืองอังกฤษก็เป็นเมืองพระราชไมตรีกัน การที่ฝ่ายราษฎรเล่าลือไปต่างๆ นั้นไม่จริงเลย……


3. พ.ศ.2417 เรื่อง “ ใบบอก(เชียงใหม่) พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ กราบบังคมทูลเรื่อง ให้จัดการรักษาเขตแดนตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2417 ” 18


ตามใบบอกของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ที่กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ความว่า…เชียงใหม่ได้ปฏิบัติตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีแล้ว โดยได้จัดตั้งกองกำลังประจำรักษาด่าน 8 ช่องทางที่ใช้เดินทางติดต่อค้าขายกับพม่า และ1 ใน 8 ช่องทางนั้น มีช่องทาง “ เมืองแหง “ รวมอยู่ด้วย แต่เมืองแหงขณะนั้นเป็น เมืองร้าง จึงจัดให้ คนเมืองกื้ด 19 จำนวน 50 คน ไปดูแลรักษาด่านคุ้มครองผู้เดินทางค้าขายและปราบปรามโจรผู้ร้าย……

ปฐมเหตุที่มาของใบบอกที่กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 นั้น มีอยู่ว่า….


รัฐบาลสยาม กับรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองพม่าในขณะนั้นได้ทำสัญญาไมตรีหรือสัญญาเพื่อส่งเสริมการติดต่อทางพาณิชย์ระหว่างพม่าของอังกฤษกับอาณาเขตของเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และได้ลงนามในวันที่ 14 มกราคม 2416 ณ เมืองกัลกัตตา ในอินเดีย สัญญานี้เรียกโดยทั่วไปว่า”สัญญาเชียงใหม่” สาระสำคัญประการหนึ่งในสัญญาว่าด้วยเรื่องเขตแดน ดังเขียนไว้ว่า…” สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะให้เจ้าเชียงใหม่ ตั้งด่านกองตระเวณ และให้มีเจ้าพนักงานกำกับริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่เป็นเขตแดนเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นของฝ่ายสยามแล้วและให้มีโปลิศ(ตำรวจ-ผู้เขียน)ตั้งอยู่พอสมควร จะได้ระงับห้ามโจรผู้ร้าย และการอื่นๆที่เป็นสำคัญ…” หลังจากนั้น กรุงเทพฯ จึงมีศุภอักษรแจ้งให้เชียงใหม่ รายงานผลการปฏิบัติตาม สัญญาเชียงใหม่และเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้มีศุภอักษรกราบบังคมทูลรายงาน ดังนี้…….


…ด้วยวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2417 ” พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่….เชิญศุภอักษรและหนังสือสัญญาขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่……ได้ให้ชี้แจงข้าพระพุทธเจ้า กับบุตรหลาน ญาติ พี่ น้อง แสนท้าวพระยาลาว ประพฤติการรักษาบ้านเมืองจะไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกับคนในบังคับอังกฤษต่อไปนั้น….ข้าพระพุทธเจ้าจะประพฤติการรักษาบ้านเมืองให้ถูกต้องตามหนังสือสัญญาต่อไป ป่าไม้ ขอนสักในแขวงเมืองนครเชียงใหม่ ริมแม่น้ำคง ซึ่งเรียกว่าแม่น้ำสาละวินต่อเขตแดนเมืองมรแมน เมืองยางแดง เมืองปุ เมืองปั่น เมืองสาด มี 8 ตำบล ที่ลูกค้าเดินไปมาค้าขายเป็นเส้นทางใหญ่อยู่ 8 เส้นทาง ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดบุตรหลาน ท้าวพระยา คุมไพร่ ไปตรวจตราระวังโจรผู้ร้ายอยู่เนืองๆ ….ข้าพระพุทธเจ้าให้นายดวงทิพย์กับไพร่ 75 คน ตั้งด่าน ตระเวณรักษาที่ ท่าฝั่ง (ท่าตาฝั่ง) ริมแม่น้ำคง(สาละวิน) ให้นายน้อยกาวิละ พระยาไชยชนะ กับไพร่ 75 คน ไปตั้งด่านตระเวณรักษา ที่ท่าสองยาง ริมน้ำเมย เกณฑ์คนเมืองยวมไปรักษาที่ขุนยวม รวมต่อแม่น้ำสาละวิน 30 คน เกณฑ์คนเมืองปายไปตั้งด่านโคงหลวง 30 คน


ทางเมืองแหง เป็นเมืองร้าง ทางลูกค้าเดินมาแต่เมืองพม่า ให้คนเมืองกึด ไปตั้งด่าน ตระเวณ 50 คน


ทางท่าขามงก ต่อแดนเมืองปุ เมืองสาด เมืองขึ้นอังวะ เกณฑ์คนเมืองพร้าวไปตระเวณรักษา 30 คน ทางหัวโป่ง เมืองเชียงแสน ต่อแขวงเมืองเชียงตุง เกณฑ์คนเมืองเชียงราย ไปตรวจตระเวณรักษา 30 คน ….


รัชกาลที่ 4


4. พ.ศ.2408 เรื่อง “ หนังสือและคัดบอกเมืองเชียงใหม่ ” 20

ระบุว่า สมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6(พ.ศ.2396-2413) สั่งให้ เจ้าบุญทาและข้าไพร่ ไป รักษาเมืองแหง และแผ้วถางเส้นทางตลอดสายไปยังพม่าจรดฝั่งแม่น้ำสาละวิน ที่ท่าผาแดง(สบจ้อด) เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางฝั่งพม่าและรับเจ้าพม่ามายังเมืองเชียงใหม่


โดยหนังสือนี้ เป็นการกล่าวฟ้องพระเจ้าเชียงใหม่ว่าคบคิดพม่าเป็นมิตร โดย เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ และเจ้าราชบุตร รวม 3 คน ที่กราบทูลถึงรัชกาลที่ 4 แต่เจ้าเชียงใหม่ได้แก้ข้อกล่าวหาจนผู้กล่าวฟ้องต้องไปอยู่เมืองอื่น แต่คำกล่าวหาทำให้เราทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 เส้นทางเมืองแหงไปสู่พม่านั้น ยังคงความสำคัญ เพราะเจ้าพม่าเดินทางมาเชียงใหม่ จะใช้เส้นทางผ่านเมืองแหง ดังข้อความต่อไปนี้


………ด้วยเจ้าเชียงใหม่ ไม่ตั้งอยู่ในทศพิตรราชธรรมประเพณี…ประการหนึ่งทุกวันนี้ เจ้าบุรียรัตนบุตรเขยเจ้าเชียงไหม่แลเจ้าราชภาคีนัยเปนที่ปฤกษา(ปรึกษา) เกน(เกณฑ์) ให้นายบุญทา (เจ้าบุญทา-ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองฝาง) กับไพร่มากน้อยเท่าใดไม่ทราบ ไปรักษาเมืองแหง ให้ถางตะลอด(ตลอด) กระทั่งถึงริมน้ำท่าผาแดง(ท่าสบจ้อด-แม่น้ำสาละวิน) ครั้นอยู่มาพม่านายไพร่ เปลี่ยนชื่อเปนขุนนางเงี้ยว (ไทยใหญ่) ถือหนังสือฉบับหนึ่งเข้ามาทาง ท่าผาแดง มาถึง “ เมืองแหง “ ส่งพม่า นายไพร่ เข้ามาถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าเชียงใหม่เกนให้ท้าว พระยา รับต้อนพม่าไปที่ภักข้าหลวงมายั้งอยู่แต่ก่อน เจ้าเชียงใหม่เลี้ยงดูเป็นอันมาก กับให้พิทักษรักษายิ่งกว่าข้าหลวงมาแต่ก่อน


ประการหนึ่งคบคิดเปนมิตรไมตรีกับพม่าข้าศึก แลให้ช้าง 2 ช้าง ปืนคาบศิลา 8 บอก กับคนใช้ในเมืองเชียงไหม่ สองคนผัวเมีย กับหนังสือฉบับ 1 ข้อความในหนังสือประการใดข้าพเจ้าไม่ทราบ แล้วเจ้าเชียงใหม่เกนให้แสน ท้าว กับไพร่ ในเมืองเชียงใหม่ไปส่ง แลพิทักษรักษาพม่ากลับคืนไป ทางเมืองแหง จนถึงท่าผาแดง


ประการหนึ่ง เจ้าเชียงไหม่กดขี่ข่มเหงข้าพเจ้า แสน ท้าว พระยา อนาประชาราษฎร ได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ครั้นเดือน 12 เกน ไพร่ประมาณ 700-800 คน ว่าจะไปถางทางที่ส่งพม่ากลับคืนออกไป


แลเจ้าเชียงไหม่ ทำไมตรีกับพม่าข้าศึก แลเกนคนไปทำทาง ข้อราชการอันนี้เจ้าเชียงไหม่ ก็หาได้ปฤกษาข้าพเจ้าไม่ ขอท่านได้นำเอาข้อความอันนี้กราบบังคมทูลพระกรรุนา แด่พระบาทสมเดจ์พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเดจ์พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย สิ่งประการใดข้าพเจ้าจะดีมีความชอบ ขอบุญปัญญาฯพัณฯสมุหนายกเปนที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าด้วย


บอกมา ณ วัน 3 ฯ4 12 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก 21


รัชกาลที่ 3


5.พ.ศ.2388 เรื่อง “ คำให้การท้าวสิทธิมงคล เรื่อง การตั้งเมืองเชียงราย “ 22


ท้าวสิทธิมงคล เป็นข้าราชบริพารในพระเจ้าพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 4(พ.ศ.2367-2389) ไปราชการบ้านเมือง และถูกจับขังคุกในพม่า ณ เมืองนาย 23 เป็นเวลา 1 ปีเศษ ต่อมาได้รับการปล่อยตัวกลับเชียงใหม่ และได้ลงไปที่กรุงเทพฯเพื่อให้ปากคำต่อพระยาจุฬาราชมนตรี ในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2388 ความว่า..


….เส้นทางจากเมืองนายมายังแม่น้ำคง(สาละวิน) มี 5 เส้นทาง และพม่ากลัวเส้นทาง สายเมืองนาย-เมืองปั่น –ท่าผาแดง ซึ่งจะผ่านเมืองแหง ตรงสู่เชียงใหม่มากที่สุด เพราะเป็นเส้นทางใหญ่ เดินง่าย และใกล้เมืองเชียงใหม่มากที่สุด พม่ากลัวกองทัพเชียงใหม่จะยกทัพไปตีพม่าทางนี้ พม่าจึงมาตั้งด่านที่เมืองปั่นและที่ท่าผาแดง โดยให้ทหารลาดตระเวณตลอดเวลา ..ดังที่บันทึกไว้ว่า..


ระยะทางแต่เมืองนาย จะมาถึงแม่น้ำคง(สาละวิน) มาได้ ๕ ทาง


ทางหนึ่งตะวันออกเฉียงเหนือ เดินแต่เมืองนายมาทาง ๓ คืน มาถึง เมืองเชียงคำ แต่เมืองเชียงคำ มาครึ่งวันถึงท่าทร้าย(ทราย) ตะวันตกแม่น้ำคง (สาละวิน) ข้ามแม่น้ำคงมาข้างฝั่งตะวันออกเดินทางอีกคืนหนึ่งถึงเมืองปุะ(ปุ) ทางนี้เดินไม่สู้ยาก เดินช้างเดินโคต่าง ได้


ทางหนึ่งตรงตะวันออก(ทิศตะวันออก) เดินแต่เมืองนายมาทางคืนหนึ่งถึงเมืองเชียงทอง แต่เมืองเชียงทอง มาทางคืนหนึ่งถึงท่าจ่าง(ช้าง) ตะวันตกแม่น้ำคง ข้ามแม่น้ำคงมาข้างฝั่งตะวันออก เดินทางอีกคืนหนึ่งถึงเมืองต่วน ทางนี้เดินง่าย เดินช้าง เดินโคต่างได้ แต่ต้องขึ้นเขาที่วาง(ระหว่าง)เมืองเชียงทอง ต่อกับท่าจ่าง (ช้าง)แห้ง


ทางหนึ่งข้าง ตะวันออกเฉียงใต้ เดินแต่เมืองนายมาทางคืนหนึ่ง ถึงเมืองปั่น แต่เมืองปั่นมาทางคืนหนึ่ง ถึงท่าผาแดง(ท่าสบจ้อด) ตะวันตกแม่น้ำคง(สาละวิน) ทางนี้เดินง่ายเป็นทางใหญ่ ใกล้เมืองเชียงใหม่ พม่ากลัวกองทัพเมืองเชียงใหม่จะยกไปทางนี้ จึงมาตั้งด่านที่ฝั่ง แม่น้ำคงท่าผาแดง(ท่าสบจ้อด)แห่งหนึ่ง ที่เมืองปั่นแห่งหนึ่ง พม่าผลัดเปลี่ยนกันมาลาดตระเวณไม่ขาด


ทางหนึ่งทิศใต้ เดินแต่เมืองนาย มาทางวันหนึ่งถึงบ้านหาต แต่บ้านหาตมาทางคืนหนึ่งถึงท่าละงง(สะงิ) ตะวันตกแม่น้ำคง ทางนี้เดินยากต้องขึ้นเขาลงห้วย เดินช้าง เดินโคต่าง ไม่ได้ เดินได้แต่พวกลาดตระเวณกับพรานป่า


ทางหนึ่งทิศใต้เฉียงตะวันตก เดินแต่เมืองนายมาทางวันหนึ่งถึงเมืองมอกไห้ม(หมอกใหม่) ๆ แยกเป็นสองทาง ๆ หนึ่ง แต่เมืองมอกไห้ม คืนหนึ่งถึงท่าสบเตง ตะวันตกแม่น้ำคง เดินยากหามีผู้ใดเดินไม่ เป็นป่าฉัต(ชัฎ) สัตว์ร้าย ทางหนึ่งเดินแต่เมืองมอกไห้ม มาคืนหนึ่งถึงเมืองกันตู แต่เมืองกันตูมาทางคืนหนึ่งถึงท่าศรีต่อ ตะวันตกแม่น้ำคง ทางนี้เดินง่ายแต่ใกล้กับแดนเมืองยางแดง พม่าหาได้มาตั้งด่านรักษาไม่ กลัวพวกยางแดงพวกเชียงใหม่จะไปจับ………


รัชกาลที่ 1


6. พ.ศ.2327 สมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (พ.ศ.2324-2358) 24


พระเจ้ากาวิละ สั่งให้เจ้าอุปราชธรรมลังกา(ผู้น้องต่อมาเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2) ยกกำลังทหาร 500 คน ไปเข้าตีกวาดต้อนเทครัวราษฎรจากเมืองชวาด(จ้อด) เมืองแหน ลงมาใส่เมืองเชียงใหม่ ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกว่า …..


…..ถึงศักราช 1146 (พ.ศ.2327)ปีกาบสี ..ขณะนั้นเดือน 4 เพ็ญ เม็งวันพุธ ม่าน(พม่า)พะคานแมงคี จากเมืองอังวะลงมาล้อมวังขังเวียงละคร(เมืองลำปาง) พระเป็นเจ้ามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว(พระเจ้ากา วิละ) ยกรี้พลสุรโยธา พันหนึ่งต่อสู้รบม่านแล้วส่งหนังสือให้แสนสุลัวะไปเพ็จทูลขอกำลังจากพระมหากษัตริย์เจ้ามาช่วยตีม่าน..พระเป็นเจ้าต่อสู้รบม่านอยู่เมืองละครได้ 2 เดือน อีก 26 วัน พระมหากษัตริย์เจ้าเกณฑ์แม่ทัพนายกอง คุมรี้พล 30,000 ขึ้นมาตีม่านแตกกระจัดกระจายไป ..ม่านแตกไปแล้ว พระเป็นเจ้า มีหนังสือให้ผู้ใช้ขี่ม้ามาด้วยรีบฉับพลัน ให้เจ้ามหาราชตนเป็นน้องยังเมืองป่าซาง ให้ยกไปตีเอาเมืองชวาด(จ้อด)…


ณ วันเดือน 7 แรม 6 ค่ำ วัน 5 เจ้ามหาอุปราชยกไปคราวทาง 7 คืน ถึงเมืองชวาด ขณะนั้นพญาชวาด มากับม่านล้อมเมืองละครแตกขึ้นไปยังไม่ถึงบ้านเมือง เจ้ามหาอุปราชาผจญเอาเมืองชวาด ได้แล้ว เลยเข้าตี “ เมืองแหน” กวาดเอาครอบครัว เมืองชวาด “ เมืองแหน ” ลงมาใส่บ้านเมือง….


สมัยกรุงธนบุรี


7.พ.ศ.2317 บันทึกไว้ โดยฝ่ายพม่า ในหนังสือ มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ความว่า..จ.ศ.1129 ..ในขณะซึ่งพญาฉาปัน(พญาจ่าบ้าน) กับพญากาวิละ ไปเข้ากับอยุธยา นั้น ฝ่ายหัวเมืองขึ้นเชียงใหม่ 57 หัวเมือง ก็กระด้างกระเดื่องแข็งเมืองขึ้นทุกๆเมือง แล้วพญาฉาปันพูดกับพญาตากแสน(พระเจ้าตากสิน)ว่า ถ้าเวลานี้ เราตีเชียงใหม่ ก็จะได้โดยง่าย แล้วพญาตากแสน จัดคนประมาณ 4-5 หมื่น ยกมาโดยด่วน ครั้นเห็นกองทัพสีหะปะเต๊ะ(เนเมียวสีหบดี)ก็มิได้หยุด ตรงเข้าตีตลุยเข้าไป


ฝ่ายกองทัพสีหะปะเต๊ะ ทนฝีมือไม่ได้ ก็แตกหนีถอยไปยัง “ เมืองแหน “ และจนต้องถอยไปอยู่ “ เมืองนาย ”


สมัยอยุธยา


บันทึกไว้ โดยฝ่ายพม่า ในหนังสือ มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า ความว่า..ครั้นจุลศักราช 974


พระเจ้าอยุธยา พระนเรศ ทรงเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่ จะไปตีเมืองอังวะ ครั้นเสด็จมาถึง “ เมืองแหน “ แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงประชวรโดยเร็วพลัน ก็ สวรรคต ในที่นั้น …


และสมัยพระราชบิดาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พระมหาธรรมราชา) พม่าบันทึกไว้ว่า ..จ.ศ.929


..ออกญาธรรมราชา(ขุนพิเรนทรเทพ หรือพระมหาธรรมราชา)ซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ที่ครองเมืองพิศษณุโลกย์(พิษณุโลก) ได้มีใบบอกมากราบทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า เจ้าเมืองเลียงเชียง(ล้านช้าง) ได้ยกพลมาตีเมืองพิษณุโลกเป็นอันมาก ครั้นพระองค์ทรงทราบ จึงทรงจัดให้เจ้าประเทศราชเงี้ยว(ไทยใหญ่) คือ เมืองยินเจ้าฟ้า 1 เมืองก่องเจ้าฟ้า 1 เมืองไมเจ้าฟ้า 1 อนุผ่องเจ้าฟ้า 1 ย่องห้วยเจ้าฟ้า 1 เมืองไน(นาย)เจ้าฟ้า 1 รวม 6 ทัพ ช้าง 600 ม้า 6,000 ทหาร 60,000 ครั้นทรงจัดเสร็จแล้ว มีรับสั่งให้ยกไปทางเมืองไน(นาย) ครั้นยกกองทัพไปถึง “ เมืองแหน ” เป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้าเมืองเลียงเชียงทรงทราบว่ากองทัพกรุงหงสาวดี ยกกองทัพมาช่วย ก็รีบถอยหนี พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบ จึงมีท้องตราให้เรียก 6 กองทัพกลับ ………..


จากหลักฐานสำคัญเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 3 ที่บันทึกไว้ในไมโครฟิล์ม (Micro Film) เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ประกอบหลักฐานทางล้านนาที่จารึกไว้ในใบลาน 25 หลักฐานของพม่า หลักฐานจดหมายเหตุของชาวต่างชาติ รวมทั้งสภาพภูมิศาสตร์ทางกายภาพ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนการเดินสำรวจภาคสนาม สังเกต สัมภาษณ์ผู้สูงอายุ โดยนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยงหลากหลายมิติ


จึงได้ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ว่า “ เมืองแหน “ ในมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า เป็นเมืองเดียวกันกับ “ เมืองแหง ” (อ.เวียงแหง เชียงใหม่) ในปัจจุบัน


มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จ สวรรคต ณ “ เมืองแหน ” แขวงเมืองเชียงใหม่


ดังนั้นในอีกนัยหนึ่งก็คือ


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จ สวรรคต


ณ “ เมืองแหง ” (อ.เวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่)


** ศึกษาธิการอำเภอเวียงแหง เชียงใหม่