Narasuan King

Amps

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

ตรวจสอบ วัสดุที่ใช้ทำ เจดีย์ ว่าเป็นสมัยใด

ตรวจสอบ วัสดุที่ใช้ทำ เจดีย์ ว่าเป็นสมัยใด

- พ.ศ.2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จสวรรคต ณ “เมืองแหน” แขวงเมืองเชียงใหม่
- ประมาณ 300 ปีต่อมา -
- พ.ศ.2460 สมัยรัชกาลที่ 6 มีการสันนิษฐานว่า สวรรคต ที่ เมืองหาง(ในพม่า)
- พ.ศ.2433 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้สำรวจจัดทำแผนที่พระราชอาณาเขตชายแดนล้านนาเป็นครั้งแรก โดย พระยาประชากิจกรจักร(แช่ม บุนนาค) กับ Mr.Collins .ในบริเวณ หัวเมืองเงี้ยว (ไทใหญ่) 5 หัวเมือง ได้แก่ เมืองหาง เมืองต่วน เมืองสาด เมืองจวด(จ้อด) เมืองทา ในรายงานของพระยา ประชากิจกรจักร ที่เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ได้ให้รายละเอียด “เมืองหาง” ในหลายด้านเช่น ประชากรทั้งหมด เป็นชาติเงี้ยว(ไทใหญ่) จำนวนประมาณ 1,500 คน มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 280 ตารางไมล์ ทำนาได้ข้าวเปลือกปีละประมาณ 100 ต่าง (150 ถัง)
โดยเฉพาะเจดีย์ ที่พบเห็นในเมืองหางขณะนั้น (114 ปีที่แล้ว) มีดังนี้
1. เวียงหางฮ้อง(บริเวณที่ตั้งของเมืองหาง) – ไม่ปรากฏว่ามีเจดีย์ -
2. เวียงบ้านฉาง (อยู่ด้านใต้ของเวียงหางฮ้อง ) มีเจดีย์วัดกำแพงงาม (ตั้งอยู่ริมเวียง)
3.เวียงอ้อ (อยู่ด้านใต้ของเวียงบ้านฉาง) ภายในเวียงมีรอยก่ออิฐ ก่อปูน พระเจดีย์ และวัดเก่าร้าง หลายแห่งแต่บัดนี้เป็นทำเลป่าหาผู้คนไม่ได้ เวียงนี้เห็นจะเป็นฝีมือจีน แต่ก่อนนามที่เรียกเวียง”อ้อ” น่าจะเป็น เวียง”ฮ่อ”
4. ทิศตะวันออกของเมืองหางมีเมือง อ่องหลวง ใต้เมืองอ่องหลวง มีถ้ำปล่องก่ออิฐประจบผา มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยต่างๆ มีจารึกอักษรว่า “นายคำฟู” เป็นผู้สร้าง มีม่อนจอมแจ้ง ตะวันออกเฉียงเหนือบ้านโป่งป่าแขม มีพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง ทิศตะวันตกบ้านโป่งน้ำใส มีพระธาตุเจดีย์ เรียกว่า “จอมแจ้งสันขวาง” ปรากฎนามว่า “นางคำเอื้อย” บ้าน “เมืองงาย” (อ.เชียงดาว เชียงใหม่ )มาสร้าง
5.ดอนแก้วท่าชะวา เหนือบ้านนากองมู มีพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง ในถ้ำยอด น้ำออกฮู มีพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง
บรรดาสิ่งสำคัญแต่โบราณทั้งหลายนี้กับนามผู้สร้าง ที่มีปรากฎ ก็เป็นอย่าง และฝีมือ ไทยลาวทั้งสิ้น ไม่มีของพม่ามาระคนปนแต่สักสิ่งสักอย่างเลย..
- พ.ศ.2485 สงครามโลกครั้งที่ 2 กองพันทหารราบที่ 13 กรมทหารราบที่ 5 ได้ตั้งกองบังคับการกองพัน ณ หมู่บ้านเมืองหาง(ในพม่า)และวาดแผนที่สังเขป มีเจดีย์เจ้าไต อยู่ทางทิศใต้หมู่บ้านเมืองหาง อยู่ทางทิศตะวันออกของถนนที่มุ่งไปสู่หมู่บ้านโป่งป่าแขม
- พ.ศ.2490 สัญญาปางโหลง(12 กุมภาพันธ์ 2490) โดยสาระเมื่อครบ 10 ปี พม่าจะให้อธิปไตย แก่ชนกลุ่มน้อย
- พ.ศ.2498 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า ..ในการลาดตระเวณชายแดนฤดูแล้งนี้กองอาสารักษาดินแดน ร่วมกับกองทหารพม่า พบเจดีย์ร้างอยู่ในป่าโดยไม่มีวัด ใต้เมืองหาง 8 กม. ห่างแม่น้ำหางไม่ถึง 1 กม. ไกลจากแม่น้ำยูน 20 กม. เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้กรมศิลปากรไปตรวจสอบ แต่ปีนั้น กรมศิลปากรไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงฤดูฝน และฝนตกชุก (นสพ. ลงข่าวในฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 2498 : อ้างในบทความของนายตรี อมาตยกุล)
- พ.ศ.2499 กรมศิลปากรยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ (อ้างแล้ว บุคคลเดียวกัน)
- พ.ศ.2500 กรมศิลปากรยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ (อ้างแล้ว บุคคลเดียวกัน)
- พ.ศ.2500 พม่าไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาปางโหลง ที่ครบกำหนดเวลา 10 ปี จะให้เอกราช แก่ชนกลุ่มน้อย (ครบกำหนด 12 กุมภาพันธ์ 2500)
- พ.ศ.2501 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2501 เกิดกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ หรือ กลุ่ม “หนุ่มศึกหาญ” ซึ่งมีเจ้าน้อย ซอ หยั่นต๊ะ เป็นผู้นำกลุ่ม ได้มาตั้งกองกำลัง ตามแนวชายแดนไทย ตั้งแต่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.ไชยปราการ อ.เชียวดาว อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จนถึง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีเขตอิทธิพล ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินทั้งหมดและมีหมู่บ้านปางใหม่ ฝั่งตรงข้ามบ้านเปียงหลวงชายแดน อ.เวียงแหง เชียงใหม่ เป็น กองบัญชาการกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ รวมทั้งเริ่มมีการปะทะกองทหารพม่าทั่วทั้งรัฐฉาน
- พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เดินทางมาตรวจราชการชายแดนพื้นที่ จ.เชียงใหม่ได้แนะนำวีรกรรมที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ผู้นำกลุ่มกู้ชาติไทยใหญ่ เทิดเกล้าฯ ไว้เป็นเยี่ยงอย่างในการกอบกู้แผ่นดิน ต่อมาเจ้าน้อยซอ หยั่นต๊ะ และจอมพลสฤษดิ์ ได้ร่วมกันสร้างเหรียญบูชาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้านหน้าเป็นพระรูปสมเด็จพระนเรศวร ด้านหลังเป็นตัวอักษรไทใหญ่ (รุ่นแรก พ.ศ.2501)
- พ.ศ.2501 กรมศิลปากรยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเจดีย์ (อ้างแล้ว บุคคลเดียวกัน)
* ประมาณ พ.ศ.2501 เจดีย์ได้ถูกระเบิดทำลายไป อิฐหัก กากปูนถูกเก็บกวาดลงไปทิ้งในแม่น้ำ หาง ไปหมดสิ้น ไม่มีทรากเหลืออยู่บนพื้นดินเลย (ที่มา: บทความของนายตรี อมาตยกุล)
พ.ศ.2515 นายตรี อมาตยกุล เขียนบทความว่าก่อนปี 2501 มี ป้ายภาษาพม่าติดไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ข้างเจดีย์เมืองหาง(ในพม่า) ว่า “ เชโยเดียตั้ดมุโอ้กกุ พระนาเรศวร” ซึ่งเจ้าหน้าที่ สถานฑูตพม่าแปลให้ฟังว่า “สถานที่ก่ออิฐบรรจุอัฐิแม่ทัพไทยสมัยโบราณ พระนเรศวร” ..

ประเด็นการวิเคราะห์
เจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ “เมืองหาง”(พม่า)
เกิดจาก “การสันนิษฐานของกองอาสารักษาดินแดนไทย เมื่อ พ.ศ. 2498”
- โดยก่อนหน้านั้นย้อนลึกเข้าไปในอดีต ไม่มี เจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จพระนเรศวร ที่ “เมืองหาง” ทั้งรายงานของกองพันทหารราบที่ 13 กรมทหารราบที่ 5 ซึ่งเคลื่อนพลไปตั้งกองบัญชาการ ณ เมืองหาง เมื่อ พ.ศ.2485 และ
- รายงานการเดินเท้าสำรวจพระราชอาณาเขตหัวเมืองเงี้ยวทั้ง 5 ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. 2433 ของพระยาประชากิจกรจักร(แช่ม บุนนาค) ก็ไม่มีเจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จพระนเรศวรฯที่เมืองหาง เช่นเดียวกัน
อีกทั้ง 2 รายงาน ก็ไม่มีป้ายภาษาพม่าติดไว้ที่ต้นไม้ใกล้เจดีย์ แต่อย่างใด
รวมทั้งประเด็นหลักที่ตั้งเป็นข้อสังเกต คือพระบรมศพของมหาราชเจ้า มีการถวายพระเพลิงกันในท้องถิ่นชายขอบพระราชอาณาเขตแทนที่ในกรุงราชธานีจริงหรือ? คำตอบในประเด็นนี้สามารถเทียบเคียงได้กับการจัดการพระศพของพระมหาอุปราชา(พ.ศ.2135 ) โดยพระองค์ถูกพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวรฯฟาดฟันจนขาดสะพายแล่งและสิ้นพระชนม์บนคอช้างในเขตแดนอยุธยา ทั้งนี้มหาราชวงษ์พงศาวดารของพม่าบันทึกไว้ว่า ไม่ได้ประชุมเพลิง ณ สมรภูมิ แต่นำพระศพวางลงในไม้มะม่วงแล้วใช้สารปรอทเททับรอบร่างเพื่อรักษาพระศพ จากนั้นจึงนำ พระศพกลับพม่าเดินทางรอนแรมนานนับเดือน จัดพิธีประชุมเพลิงในเมืองหลวงหงสาวดี
ดังนั้นในยุคสมัยเดียวกัน(พ.ศ.2148)พระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็คงใช้เทคโนโลยีในการรักษาพระบรมศพที่ใกล้เคียงกันและนำพระบรมศพกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อจัดพระราชพิธีทักษิณานุปทานบำเพ็ญกุศลและพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ ท่ามกลางพสกนิกร แม่ทัพ นายกอง ข้าราชบริพาร ฑูตานุทูต และเจ้าเมืองประเทศราช อีกทั้งจดหมายเหตุสมัยอยุธยา เรื่องรายงานพระเมรุครั้งกรุงเก่า จ.ศ. ๑๐๙๗ บันทึกว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดให้มีการสร้างพระเมรุมาศ สูงเส้นสิบเจ็ดวา( ๗๔ เมตร)เพื่อรับพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมอัญเชิญพระบรมศพเสด็จลีลาโดยรัถยาราชวัติไปยังพระเมรุมาศด้วยยศบริวารและเครื่องสักการะบูชาหนักหนา ประทับเหนือกฤษฎาธารอันประดับด้วยอภิรุมกลิ้งกลดรจนา แห่ล้อมด้วยท้าวพระยาเสนาธิบดีมนตรีมุขทั้งหลาย สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จไปถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง(สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ให้นิมนต์พระสงฆ์สบสังวาศจำนวนหนึ่งหมื่นหนึ่ง(๑๐,๐๐๑ รูป) ถวายพระราชทานเครื่องอัฐบริขารทักษิณาบูชาพระสงฆ์ทั้งปวงเป็นมโหฬาร
แล้วจะมีเจดีย์บรรจุอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ดินแดนชายขอบพระราช อาณาเขตได้อย่างไร?

ชัยยง ไชยศรี.